ปลัดสธ.ย้ำเจ้าหน้าที่ เข้มซักประวัติหญิงตั้งครรภ์ก่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 หากมีประวัติเคยแท้งลูกหรือเสี่ยงแท้ง ให้งดฉีด

  •  


     

              ปลัดกระทรวงสาธารณสุขย้ำทุกโรงพยาบาลที่จะให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 แก่หญิงที่ตั้งครรภ์ ให้ซักประวัติให้ละเอียด หาพบมีประวัติแท้งหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้แท้งให้ปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลห้องรับฝากครรภ์หรืองดฉีด และแนะนำให้ป้องกันตัวเอง ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วย

              วันนี้(12 กุมภาพันธ์ 2553) ที่โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ทั่วประเทศกว่า 400 คน เรื่อง “วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ปลอดภัยจริงหรือ” เพื่อชี้แจงข้อมูลการให้บริการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009

    นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่รายงานพบโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มการระบาดจะขยายวงกว้างขึ้นทั่วทุกภาค พื้นที่การระบาดส่วนใหญ่ยังเป็นสถานศึกษาแต่ไม่มากเท่าครั้งแรก ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ 2553 มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งได้กำหนดกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มให้เป็นผู้ที่รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ นั้น ซึ่งในการกำหนดกลุ่มเสี่ยง เป็นความรู้ที่ได้จากการระบาดรอบแรก ดังนั้นเมื่อคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจึงมีโอกาสที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์มากกว่าคนที่ร่างกายปกติ

                นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ก่อนฉีดวัคซีน ต้องซักประวัติอย่างละเอียด เช่น หากมีประวัติแท้งท้องแรกหรือครอบครัวมีประวัติหรือปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแท้งได้ง่าย ควรงดการฉีด ให้ปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลห้องฝากครรภ์ และต้องให้คำแนะนำการป้องกันตัว โดยให้กินร้อน ซ้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด หากหญิงตั้งครรภ์ไม่มีประวัติที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการแท้งลูก ก็สามารถฉีดได้

                ในการประชุมในวันนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้บริการ ให้ข้อมูลแก่ผู้ที่ต้องการรับวัคซีน ได้ทราบข้อเท็จจริงให้มากที่สุด และให้ตัดสินใจฉีดโดยความสมัครใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พร้อมกันนี้ได้ให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุม นำความรู้ ข้อมูลผลการประชุมไปถ่ายทอด ให้ผู้ร่วมงานให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์กับผู้รับวัคซีนมากที่สุด และต้องมีกระบวนการดูแลผู้รับวัคซีนในโรงพยาบาล โดยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่อนุญาตให้ฉีดที่สถานีอนามัย เนื่องจากหากเกิดการแพ้หลังฉีด อาจไม่สามารถแก้ไขได้ทัน นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวในที่สุด

               นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009ในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง 5กลุ่ม ในช่วง ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 11มกราคม จนถึงวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2553 ได้รับรายงานมีผู้มารับบริการวัคซีนแล้ว 174,500 คน ประกอบด้วย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 110,691 คน คิดเป็นร้อยละ 29 จาก 371,424 คน กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง42,028 คน คิดเป็นร้อยละ 5จาก 842,895 คน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 15,578 คน คิดเป็นร้อยละ 3จาก 500,915 คน กลุ่มบุคคลโรคอ้วน 4,843 คน คิดเป็นร้อยละ 3จาก 182,384 คน และกลุ่มผู้พิการรุนแรงที่ช่วยตนเองไม่ได้ 1,360 คน คิดเป็นร้อยละ 2 จาก 72,132 คน อย่างไรก็ตามช่วงนี้เป็นช่วงที่การระบาดของโรคขยายวงกว้างขึ้น เกือบเท่าระลอกแรกและผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงขอให้กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ฉีดวัคซีนตัดสินใจฉีดวัคซีน เพราะจะได้ประโยชน์มากกว่าที่จะปล่อยให้ป่วยซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง    

    กุมภาพันธ์4/4 ****    12 กุมภาพันธ์ 2553

  • แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ

    [12/ก.พ/2553]